fbpx

ปัจจุบันคนไทยป่วยด้วยโรคไตเรื้อรังประมาณ 8 ล้านคน โดยเป็นผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายกว่า 100,000 คน ที่ต้องรับการฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้อง และมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องร้อยละ 15-20 ต่อปี

      โรคไตเป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากระบบการทำงานของไตผิดปกติ ทำให้ไตไม่สามารถขับของเสีย หรือรักษาความสมดุลของเกลือและน้ำในร่างกายได้ ซึ่งโรคไตมีสาเหตุหลายอย่าง ได้แก่โรคซึ่งเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่นโรคถุงน้ำในไต โรคที่ทำให้เกิดการอักเสบของไต โรคที่เกิดจากการอุดตันของทางเดินปัสสาวะ เช่น จากนิ่ว และที่สำคัญคือโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีรสเค็มจัด หวานจัด ความเครียดสะสม พักผ่อนไม่เพียงพอ ไม่ออกกำลังกาย ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน โรคความดันโลหิตสูง และเกิดโรคเบาหวานตามมา ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่พบบ่อยที่สุด

          ไตเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย ทำหน้าที่ช่วยขับของเสีย รักษาสมดุลของเหลวและแร่ธาตุต่างๆในร่างกาย หากไตเสียหายไป ไม่มีทางทำให้กลับมาเป็นปกติเหมือนเดิมได้ เราควรป้องกันไม่ให้เป็นโรคไต หรือถ้าสังเกตพบอาการในระยะเริ่มต้น ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรักษา จะช่วยชะลอความเสื่อมของไตให้ช้าลงได้

อาการที่บ่งบอกว่าเป็นโรคไต

อาการของโรคไตที่ผู้ป่วยสามารถสังเกตพบได้ซึ่งมักจะมีอาการ ปัสสาวะเป็นฟอง  มีอาการตัวบวม ขาและเท้าบวม  กดแล้วบุ๋ม มีอาการปวดหลังบริเวณใต้ชายโครงข้างกระดูกสันหลัง เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้คุณเป็นโรคไต

1. กรรมพันธุ์ / ครอบครัว

โรคไตบางชนิดเป็นเพราะกรรมพันธุ์ เช่น โรคไตเป็นถุงน้ำ (Polycystic Kidney Disease) เพราะฉะนั้นคนที่มีพ่อแม่ปู่ย่าตายายเป็นโรคนี้ ก็มีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคนี้เช่นกัน โรคนี้มี 2 แบบ ได้แก่ แบบทารก (Infantile PKD) มักจะเสียชีวิตตั้งแต่เกิด ส่วนแบบผู้ใหญ่ (Adult PKD-APKD) มักพบความผิดปกติเมื่ออายุ 20-30 ปีขึ้นไป ครอบครัวเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง เราพบว่า มีสมาชิกของครอบครัวเดียวกันเป็นโรคไตชนิดเดียวกัน พิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นจากกรรมพันธุ์หรือไม่ อาจเป็นเพราะกินอยู่ในสภาพเดียวกันหรืออุปนิสัยคล้าย ๆ กัน

2. ความดันโลหิตสูง

ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงจะมีผลกระทบต่ออวัยวะที่สำคัญ คือ หัวใจ หลอดเลือด ไต และสมอง คนที่มีความดันโลหิตสูงนาน ๆ จะมีผลทำให้ไตเสื่อมลง แรก ๆ จะมีไข่ขาวออกมาในปัสสาวะ นาน ๆ จะทำให้เกิดไตวายจนไปถึงไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ขณะเดียวกัน คนที่เป็นไตวายหรือโรคไตบางชนิดก็ทำให้เกิดความดันโลหิตสูงได้ นอกจากนี้ยังพบว่าถ้าเกิดความดันโลหิตสูงชนิดร้ายแรง (malignant hypertension) อยู่นาน 1 ปี จะทำให้จากไตปกติกลายเป็นไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายได้ การรักษาควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ จะทำให้การเกิดโรคไตช้าลงหรือไตเสื่อมช้าลงได้ ความดันโลหิตสูงนี้มีความสำคัญ เพราะเป็นสาเหตุของไตวายเรื้อรัง ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายประมาณ 30-50%

3. โรคเบาหวาน

เป็นสาเหตุของไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายราว ๆ 30% ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน เมื่อเป็นมาราว ๆ 10-15 ปี ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงที่ไต โดยเฉพาะที่หลอดเลือดของไต มีไข่ขาวออกมาในปัสสาวะ ต่อไปก็จะเกิดไตเสื่อม ไตวายเรื้อรัง และไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในที่สุดโรคเบาหวานยังมีผลทำให้เกิดความดันโลหิตสูง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อไตอีกด้วย นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานยังติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะและกรวยไตอักเสบ ซึ่งถ้าเป็นบ่อย ๆ และ/หรือรุนแรง ก็มีผลทำให้ไตเสื่อม ไตวายได้

4. ภูมิลำเนา

เป็นที่ทราบกันดีว่าในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย จะมีผู้ป่วยเป็นโรคนิ่วในไตและทางเดินปัสสาวะมาก สาเหตุอาจเกี่ยวเนื่องจากอาหาร น้ำ และปัจจัยอื่น เพราะฉะนั้นคนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในบริเวณนี้ก็จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไตได้

5. ความอ้วน

คนอ้วนจะมีเมตาบอริซึมสูงกว่าคนปกติ เกิดของเสียต่าง ๆ มากขึ้น ทำให้ไตและอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกายทำงานมากขึ้น ทั้งหัวใจ ปอด ความดันโลหิตสูง ไตต้องทำงานรับภาระมากขึ้น เปรียบเสมือนรถบรรทุกน้ำหนักเกิน จะมีไข่ขาวในปัสสาวะก่อน แล้วต่อมาไตจะเสื่อมหรือวายได้

6. อายุ

ไตของคนปกติจะเจริญเติมที่เมื่ออายุประมาณ 2 ปีและจะเริ่มเสื่อมเมื่ออายุ 35 ปี เพราะฉะนั้นสมรรถภาพการทำงานของไตจะเสื่อมไปตามอายุ นอกจากนี้ในผู้ชายผู้สูงอายุมีโอกาสสูงที่จะเป็นต่อมลูกหมากโต อาจทำให้เกิดการอุดตันของทางเดินปัสสาวะ ทำให้การทำงานของไตเสื่อมลงได้ การรับประทานยา / ฉีดยาต่าง ๆ ที่มีพิษต่อไตจำเป็นต้องลดขนาดลงด้วย มิฉะนั้นก็อาจทำให้เกิดไตวายได้

7. ยา/อาหาร

ยาหลายชนิด อาหารบางประเภท มีพิษต่อไต ถ้าเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง ถ้าจำเป็นต้องใช้ก็ต้องปรับขนาดของยาให้พอเหมาะ และหมั่นติดตามการทำงานของไตอย่างใกล้ชิด มิฉะนั้นกว่าจะรู้ก็ไตวายเสียแล้ว เช่น ยาแก้ข้อ-กระดูกอักเสบ (พวกเอนเสด – NSAID) เป็นต้น อาหารพิเรนทร์บางชนิด เช่น ดีงู เป็นต้น ก็ทำให้เกิดไตวายได้ นอกจากนี้ สายทึบรังสี ที่ใช้ฉีดให้ผู้ป่วยเวลาตรวจทางเอกซเรย์ ก็อาจมีผลทำให้ไตวายได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานต้องเลี่ยง ใช้สารที่ปลอดภัยมาก ๆ หรือให้น้ำอย่างเพียงพอเมื่อต้องใช้สารจำพวกนี้

8. อาชีพ/อุบัติเหตุ

อาชีพบางอย่างอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตได้ เช่น นักมวย อาจถูกต่อย ถูกเตะบริเวณไตจนเกิดอันตรายได้ หรือบางคนทำงานในโรงงานซึ่งได้รับสารพิษต่อไตสะสมยาวนาน ก็เสี่ยงต่อการเป็นโรคไตได้ ใครที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไตก็ควรป้องกันและ พยายามหลีกเลี่ยงหรือลดความเสี่ยงต่าง ๆ ความเสี่ยงหลาย ๆ อย่างสามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น การให้ยา การกินอาหาร อาชีพ อุบัติเหตุ แต่ความเสี่ยงบางอย่างก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น กรรมพันธุ์ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และความอ้วน แต่สามารถลดความรุนแรงได้ เช่น โรคที่เป็นกรรมพันธุ์ ก็รีบตรวจกับแพทย์เป็นระยะ ๆ เพื่อให้รู้ตั้งแต่โรคเป็นน้อย ๆ จะสามารถดูแลรักษาให้ชีวิตยืนยาวได้ รวมทั้งโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ถ้าควบคุมความดันโลหิตและเบาหวานได้ดีอย่างต่อเนื่อง โรคไตที่จะเกิดหรือจะเป็นก็จะช้าลง หรือรุนแรงน้อยลง เราสามารถเริ่มดูแลสุขภาพได้ตั้งแต่วันนี้โดยการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์

ผู้ป่วยไต ควรดูแลตัวเองอย่างไร

หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเค็มจัด อาหารที่มีโซเดียมสูง (เช่น ปลาเค็ม แฮม เบคอน ไส้กรอก อาหารดอง ขนมขบเคี้ยว

  • อาหารที่มีโพแทสเซียมสูง

    • หากไตเสื่อม ไตจะกรองเอาโพแทสเซียมออกจากร่างกายได้น้อยลง ทำให้ร่างกายมีปริมาณโพแทสเซียมสูงเกินไป จนอาจทำให้มีอาการเหนื่อยหอบ อ่อนเพลีย ใจสั่น คลื่นไส้ เป็นตะคริว ชีพจรเต้นช้าลงหรือจนถึงขั้นหัวใจหยุดเต้นได้  การได้รับโพแทสเซียมในระดับที่เหมาะสมจะช่วยลดอาการบวมน้ำในร่างกายของผู้ป่วย ช่วยปรับสมดุลของน้ำในร่างกายให้เป็นปกติ และป้องกันไม่ให้ร่างกายเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว อาหารที่มีโพแทสเซียมสูง ได้แก่ ผักสด โดยเฉพาะผักสีเข้ม ๆ นมไขมันต่ำ หรือไม่มีไขมัน ถั่วต่าง ๆ และธัญพืช ผงโกโก้ ลูกพรุนอบแห้ง ลูกเกด เมล็ดทานตะวัน อินทผลัม ปลาแซลมอน ผักโขมสด เห็ด กล้วย ส้ม

      • ควบคุมอาหารที่มีโปรตีนสูง

        • โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ปริมาณโปรตีนที่แนะนำคือ 0.6-0.8 กรัมต่อน้ำหนักตัวที่เหมาะสม 1 กิโลกรัม หรือขึ้นอยู่กับระยะของโรค และควรเลือกรับประทานโปรตีนคุณภาพสูงประเภทเนื้อปลา โดยเฉพาะปลาทะเลน้ำลึก เนื่องจากมีไขมันต่ำและยังมีกรดไขมันโอเมก้า 3 สูง ไข่ขาว เนื้อหมู เนื้อไก่ที่ไม่ติดหนังหรือมัน  นมไขมันต่ำ เป็นต้น แต่ควรหลีกเลี่ยงเครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์แปรรูป เนื้อสัตว์ที่มีไขมันสูง

          • ควบคุมคาร์โบไฮเดรต

            • ควบคุมคาร์โบไฮเดรตจำพวกข้าว-แป้ง ซึ่งเป็นแหล่งให้พลังงานที่สำคัญ เช่น ข้าวเจ้า ขนมจีน ก๋วยเตี๋ยว มักกะโรนี เป็นต้น แต่ในแป้งเหล่านี้ยังคงมีโปรตีนอยู่บ้าง หากผู้ป่วยต้องจำกัดโปรตีนต่ำมาก ๆ อาจต้องใช้แป้งปลอดโปรตีน เช่น วุ้นเส้น ก๋วยเตี๋ยวเซี่ยงไฮ้ หรือรับประทานขนมที่ทำจากแป้งปลอดโปรตีน เช่น ซาหริ่ม สาคูเปียก เพื่อให้ได้รับพลังงานที่เพียงพอ แต่หากผู้ป่วยเป็นเบาหวานด้วยก็ควรใช้น้ำตาลเทียมหรือน้ำตาลจากหญ้าหวานแทน ควรเลี่ยงอาหารที่มีไขมันทั้งหลาย ได้แก่ ไข่แดง เครื่องในสัตว์ และจำกัดไขมันอิ่มตัวทั้งจากพืชและสัตว์ จำพวกกะทิ น้ำมันปาล์ม มันหมู มันไก่ รวมถึงไขมันทรานส์ เช่น เนยเทียม เนยขาว ที่เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ประกอบเบเกอรี่ต่าง ๆ ควรใช้น้ำมันแบบไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (MUFA) เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนลา ในการประกอบอาหาร

              • ควรเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมมาก

                • ได้แก่ เครื่องปรุงรสต่าง ๆ รวมถึงอาหารแปรรูป อาหารหมักดอง อาหารตากแห้ง และอาหารกึ่งสำเร็จรูป เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว หากผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูงหรือมีอาการบวม ต้องจำกัดโซเดียมให้น้อยกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน คือให้ใช้ซีอิ๊วปรุงอาหารได้ประมาณ 3 ช้อนชาต่อวัน หรือใช้เกลือ 1 ช้อนชาต่อวัน โดยสามารถใช้เครื่องเทศ สมุนไพร มะนาว และน้ำตาล ในการช่วยชูรสอาหาร เป็นต้น ในกรณีที่ต้องจำกัดปริมาณโซเดียมต่ำมากอาจส่งผลให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อยลง แนะนำให้ใช้เครื่องเทศและสมุนไพรเป็นตัวแต่งกลิ่นอาหารให้น่ารับประทานมากยิ่งขึ้น เช่น หอมแดง ใบมะกรูด กระเทียม ใบโหระพา ข่า ใบแมงลัก ตะไคร้ ใบสะระแหน่ กระชาย รากผักชี ขิง ผักชี พริกไทยดำ ใบกระวาน อบเชย กานพลู เป็นต้น

                  • ควรเลี่ยงอาหารที่มีฟอสฟอรัส

                    • หากมีระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูงเกินเกณฑ์ ต้องหลีกเลี่ยงไข่แดง นมทุกรูปแบบ รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากนม เช่น โยเกิร์ต เนยแข็ง งดรับประทานเครื่องในสัตว์ ปลาทั้งกระดูก ช็อกโกแลต น้ำอัดลมสีดำ รวมถึงเมล็ดพืช ถั่วต่าง ๆ เช่น เมล็ดแตงโม เมล็ดทานตะวัน ฯลฯ งดอาหารที่ใช้ยีสต์ เช่น ขนมปังปอนด์ แป้งซาลาเปา หมั่นโถว โดนัท เพราะยีสต์มีฟอสเฟตอยู่มาก งดอาหารที่ใช้ผงฟู เช่น เค้ก คุกกี้ ขนมหน้าแตก

                      • เลี่ยงอาหารที่มีพิวรีนสูง

                        • ในกรณีที่มียูริกในเลือดเกินเกณฑ์ เช่น เครื่องในสัตว์ทุกชนิด สัตว์ปีก น้ำสกัดจากเนื้อสัตว์ ยอดผักอ่อน ๆ พวกยอดตำลึง ยอดฟักแม้ว ยอดฟักทอง หน่อไม้ฝรั่ง และต้องรับประทานอาหารไขมันต่ำควบคู่กันด้วย เพราะอาหารไขมันสูงทำให้กรดยูริกขับถ่ายทางปัสสาวะได้ไม่ดี

                          • ควรเลี่ยงขนมหวาน

                            • ควรเลี่ยงขนมหวาน เช่น ขนมใส่กะทิ หรือขนมอบที่มีเนย เนยแข็ง เพราะขนมอบมักใส่ผงฟูซึ่งมีสารฟอสเฟตสูง ถ้าผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานด้วยและระดับน้ำตาลในเลือดสูง ควรหลีกเลี่ยงขนมหวานจัดซึ่งมีน้ำตาลมาก และไม่ควรใช้น้ำตาลเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน

                              • น้ำเปล่า

                                • น้ำเปล่า เป็นเครื่องดื่มที่เหมาะกับผู้ป่วยโรคไตมากที่สุด หากมีอาการบวมน้ำ มีความดันโลหิตสูง ให้ดื่มน้ำไม่เกินวันละ 700-1,000 cc. หรือ 3-4 แก้วต่อวัน แต่หากผู้ป่วยไม่มีอาการบวมน้ำ สามารถดื่มน้ำได้ตามปกติ และสามารถดื่มน้ำสมุนไพรที่ไม่หวานจัดได้บ้าง เช่น น้ำใบเตย น้ำอัญชัน น้ำเก๊กฮวย น้ำกระเจี๊ยบ ทั้งนี้ต้องควบคุมปริมาณน้ำให้เหมาะสมกับระดับความเสื่อมของไตด้วย

สมุนไพรที่มีงานวิจัยรองรับว่า มีสารสำคัญทางยา มีส่วนช่วยบำรุงและฟื้นฟูประสิทธิการทำงานของไต

โดยมีงานวิจัยสมุนไพรถั่งเช่าทั่วโลก มีการศึกษา 22 เรื่องโดยมีผู้เข้าร่วม 1,746 คน เกี่ยวกับสารสกัดถั่งเช่ากับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง โดยแบ่งกลุ่มเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาปกติ และอีกกลุ่มหนึ่งได้รับการรักษาควบคู่กับการรับประทานถั่งเช่า พบว่าผู้ที่ได้รับการรักษาโรคไตเรื้อรังควบคู่กับการรับประทานถั่งเช่า มีค่า serum creatinine ลดลง , โปรตีนในปัสสาวะลดลง, และประสิทธิภาพการทำงานของไตดีขึ้นอีกด้วย

ที่มา : กรมสุขภาพจิต

Zhang HW1, Lin ZX, Tung YS, Kwan TH, Mok CK, Leung C, Chan LS.(2014) Cordyceps sinensis (a traditional Chinese medicine) for treating chronic kidney disease